คำแนะนำเบื้องต้นในการติดต่อราชการ

               จินตภาพของคำว่า “ระบบราชการ” ในความคิดของประชาชนทั่วไปมักมีความหมายในเชิงลบ มีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน ชัดช้าจนน่ารำคาญ บางคนถึงกับมีอาการกลัวระบบราชการไปเลย ยิ่งถึงคราวที่จะต้องติดต่อธุระในสถานที่ราชการด้วยแล้ว ต่างก็สายหน้ากันเป็นแถวถึงอย่างไรก็ไม่สามารถหลบหลีกพ้นเพราะระบบราชการนั้นมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคนตั้งแต่ระดับสูงลงสู่ระดับรากหญ้า

เพราะฉะนั้นบันไดก้าวแรกของความมั่นใจและขจัดความกลัวสำหรับผู้ที่ต้องการติดต่อราชการ เพื่อที่จะทำให้การติดต่อราชการในเรื่องนั้น ๆ เป็นไปโดยราบรื่นไร้อุปสรรค มีดังนี้

- เอกสาร

ในการติดต่อราชการทุกครั้งจะต้องมีการเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อมอยู่เสมอ เอกสารที่เป็นพื้นฐานสำคัญห้ามลืมเด็ดขาด คือ บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ฉบับเจ้าบ้าน (ท.ร.14) เพราะเอกสารทั้งสองถือว่าเป็นหลักฐานแสดงสถานภาพของประชาชนที่มีความสำคัญที่สุด และนอกจากจะต้องนำฉบับจริงไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่แล้ว บางทียังต้องถ่ายเอกสารทั้งด้านหน้าและด้านหลังมอบให้เจ้าหน้เาที่สำหรับเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐานอีกด้วย ฉะนั้น เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ควรถ่ายเอกสารทั้งสองฉบับเตรียมไว้ให้พร้อม

- กรณีติดต่อราชการด้วยตนเอง

นอกจากเอกสารพื้นฐานเบื้องต้น อาจจะต้องเตรียมเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติมแล้วแต่เรื่องที่ต้องการติดต่อราชการซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามธุระที่ต้องการติดต่อ

- กรณีเป็นตัวแทน

ในบางครั้งผู้ที่ต้องการติดต่อราชการไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพราะมีสภาพเป็นผู้เยาว์ (อายุยังไม่ถึง 20 ปี) เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถดำเนินการได้ จำเป็นต้องอาศัยตัวแทนในการติดต่อราชการ ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ตัวแทนต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติมดังนี้

ประเภทของตัวแทน

หลักฐานที่ต้องนำไปเพิ่มเติม

1. ตัวแทนผู้เยาว์

- ใบสำคัญแสดงการเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ เช่น แสดงตน

ว่าเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง

2. ตัวแทนผู้ไร้ความสามารถ

- ใบสำคัญแสดงการเป็นผู้ดูแลของผู้ไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล

3. ตัวแทนผู้ประสบอุบัติเหตุ

- หลักฐานที่แสดงว่าตนเป็นลูกหลาน พ่อแม่ สามี หรือภรรยา

4. ตัวแทนนิติบุคคล

- หนังสือมอบอำนาจของนิติบุคคลพร้อมติดแสตมป์ 5 บาท

- หนังสือรับรองนิติบุคคลจากกระทรวงพาณิชย์

เมื่อไปติดต่องานราชการต่าง ๆ หากมีปัญหาขัดข้องประการใด ขอให้ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสถานที่ราชการนั้น ๆ ซึ่งจะจัดไว้คอยแนะนำไขข้อสงสัยให้แก่ประชาชนรวมไปถึงอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ อีกด้วย พึงระลึกไว้เสมอว่า “เกิดข้อสงสัย สอบถามได้ ไม่ต้องกลัว” เพียงเท่านี้ธุระที่มีก็สามารถดำเนินการจนสำเร็จลุล่วงได้ ไม่ยากเลยใช่มั๊ย ?