ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย

ความรู้เกี่ยวกับรถที่นำมาใช้

ความรู้ในเรื่องอุบัติเหตุจราจรและการป้องกัน

ความรู้ในการขับรถที่เสี่ยงต่ออันตราย

ความรู้ในการใช้รถหลังจากเกิดอุบัติเหต

ความรู้สำหรับคนเดินเท้า

การสวมหมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อค

 

ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญต่อการใช้รถใช้ถนน เนื่องจากเป็นผลดีต่อทั้งตัวผู้ขับขี่และเพื่อนร่วมทางรอบข้าง แต่ทำไมสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์จึงเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งเมื่อตัดปัจจัยของการเพิ่มปริมาณรถยนต์บนท้องถนนที่มีโอกาสทำให้ตัวเลขผู้ประสบอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นแล้ว “ความประมาท” และ “การขาดความรู้เรื่องการใช้รถใช้ถนน” น่าจะเป็นสาเหตุหลักของอุบัติการณ์อันน่าสลดใจเหล่านี้

การเป็นนักขับรถที่ดีไม่ใช่จะขับรถอย่างเดียว ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้

ความรู้เกี่ยวกับรถที่นำมาใช้

1. ห้ามนำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงมาใช้ในทางเดินรถ เพราะอาจเกิดอันตรายหรืออาจทำให้ผู้ใช้และคนรอบข้างเสียสุขภาพ เช่น รถตัวถังผุ ยางล้อรถไม่มีดอกยาง มีควันดำ ฯลฯ

2. รถที่นำมาใช้ต้องมี โคมไฟหน้า-หลัง-ไฟเลี้ยว-ไฟจอด-ไฟเบรก-ไฟฉุกเฉิน-แตร-เบรกมือที่ใช้การได้-ที่ปัดน้ำฝน ครบถูกต้องตามกฎหมาย และต้องติดแผ่นป้ายทะเบียนหน้า-หลัง และติดป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีด้วย

ความรู้ในเรื่องอุบัติเหตุจราจรและการป้องกัน

อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เราป้องกันได้ โดยการแก้ไขจากสาเหตุที่ทำให้เกิดนั้นสำหรับการใช้รถใช้ถนนแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะตลอดจนสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยส่วนรวม ได้แก่

1. ผู้ขับขี่ขาดความรอบรู้ในการใช้รถใช้ถนน

2. ประชาชนผู้เดินถนนขาดความรู้เกี่ยวกับการเดินถนน ตลอดจนการโดยสารถที่ปลอดภัย

3. ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และขับรถอยู่บนความประมาทขาดความระมัดระวัง หรือขับรถในขณะมึนเมา ซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนนในปัจจุบันที่กำลังเพิ่มปริมาณขึ้นเกิดจากสาเหตุนี้โดยหลักใหญ่ ดังจะเห็นได้ว่ามีโครงการรณรงค์ไม่ให้ผู้ขับรถดื่มสุราหรือของมึนเมาขณะขับรถ

ความรู้ในการขับรถที่เสี่ยงต่ออันตราย

หมายถึงการขับรถบนถนนที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เช่น ถนนลื่น ขึ้นลงเขาหรือขับรถทางไกล ซึ่งผู้ขับขี่ควรมีความรู้ต่าง ๆ ดังนี้

1. ขับรถขณะฝนตกถนนลื่น ควรชะลอความเร็วรถให้ช้าลงกว่าปกติและทิ้งระยะห่างจากคันหน้าให้มากขึ้น ถ้าขับรถอยู่บนทางที่ให้รถขับสวนกันก็ควรเปิดไฟหน้ารถเพื่อเตือนให้รถที่วิ่งสวนมามองเห็น เวลาจะหยุดรถควรใช้เกียร์ช่วยไม่ควรเหยียบเบรกโดยกระทันหันหรือหักพวงมาลัยรถอย่างฉับพลันเพราะอาจทำให้รถปัดหรือหมุนได้

2. การขับรถขึ้น-ลงเขาสูง เวลาขับรถขึ้นเขาควรใช้เกียร์ต่ำที่มีกำลังพอเพราะถ้าเครื่องยนต์ไม่มีกำลังพอจะทำให้รถดับได้ ถ้ารถดับและไหลลงจากขาต้องเหยียบเบรกและใช้เบรกมือช่วย ส่วนเวลาลงเขาก็ควรใช้เกียร์ต่ำเช่นกันเพื่อฉุดกำลังไม่ให้ไหลเร็วจนเกินไป หรือคอยประคองรถด้วยการเหยียบเบรกชะลอให้รถช้าพอที่จะบังคับได้

3. การขับรถทางไกล ในบางครั้งเมื่อมีความจำเป็นต้องขับรถเดินทางไกล ซึ่งอาจมีโอกาสประสบอุบัติเหตุได้ ดังนั้นผู้ขับขี่ควรปฏิบัติตนดังนี้

ก. ตรวจสภาพและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของรถ ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีและปลอดภัยก่อนออกเดินทาง ดังนี้

- ตรวจช่วงล่าง คันส่งคันชักพวงมาลัย

- ตรวจยางทั้ง 4 ล้อ และยางอะไหล่ด้วย ยางไม่มีดอกควรเปลี่ยน น็อตล้อขันแน่นหรือไม่ วัดลมยางทั้ง 4 ล้อ ให้ได้ขนาดเหมาะสมกับรถ และควรมีที่วัดลมยางติดไปด้วย

- เตรียมแม่แรงประจำรถ เหลักขันแม่แรงและกุญแจขันแม่แรง พร้อมทั้งตรวจสอบว่าใช้การได้หรือไม่

- ตรวจระบบเบรก ผ้าเบรก น้ำมันเบรก และตรวจเบรกมือว่าใช้การได้ดีหรือไม่

- ตรวจระบบเครื่องยนต์ ลองสตาร์ทเครื่องว่าเดินเรียบหรือไม่ ถ้าเครื่องเดินไม่เรียบอาจต้องเปลี่ยนหัวเทียนหรือทองขาว

- ตรวจดวงไฟหน้าทั้งสองดวง รวมถึงไฟทุกดวงของรถ ต้องสว่างเพียงพอและให้การได้ดีทุกดวง ปรับไฟสูง - ไฟต่ำ ให้ได้ขนาดตามที่กำหนดไว้ ถ้าหลอดขาวหรือฟิวส์ขาดให้เปลี่ยน

- ตรวจระดับน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ น้ำในหม้อน้ำ (รังผึ้ง) ถ้าหม้อน้ำแห้งหรือทางเดินของน้ำหมุนเวียนอุดตัน เครื่องยนต์จะร้อน สังเกตได้จากหน้าปัดวัดความร้อน อาจทำให้เสื้อสูบแตกหรือชาร์จละลาย

- ตรวจน้ำล้างกระจก ท่อฉีดน้ำกระจกต้องไม่อุดตัน ที่ปัดน้ำฝนยังใช้การได้ดี

- ตรวจน้ำมันเครื่อง และไส้กรองน้ำมันเครื่องจะต้องเปลี่ยนทุก 5,000 - 10,000 กม.

- ตรวจน้ำมันเชื้อเพลิงว่ามีเพียงพอหรือไม่ และไส้หม้อกรองน้ำมันเชื้อเพลิงต้องสะอาด ซึ่งจะต้องเปลี่ยนทุก 10,000- 20,000กม.น้ำมันเชื้อเพลิงต้องเติมให้ค่าออกเทนตรงกับสภาพรถซึ่งสามารถ  สอบถามได้ตามสถานีบริการน้ำมันต่างๆ

- ตรวจระบบแตรว่าใช้การได้ดีหรือไม่

- ตรวจระบบแอร์ ถ้าน้ำยาแอร์ไม่พอ แอร์จะไม่เย็น และให้ตรวจดูสายพานแอร์ว่า

- ตรวจการรั่วไหลของน้ำ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่นต่าง ๆ

- นำรถไปอัดฉีดจาระบีล้อ เติมน้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย

ข. เตรียมอุปกรณ์และอะไหล่ที่จำเป็นระหว่างทาง คือ ฟิวส์ต่าง ๆ ของรถ หลอดไฟหน้า-หลัง แกลลอนหรือถังน้ำสำหรับเติมน้ำในหม้อน้ำ แกลลอนน้ำมันเครื่อง น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฉาย เครื่องดับเพลิงสำหรับรถ น้ำยาปะอุดยางพร้อมเติมลมได้ด้วย เชือกไนล่อนขนาดนิ้วก้อยยาวประมาณ 10 เมตร สำหรับลากรถเมื่อรถเสีย ชุดปฐมพยาบาล และไม้รองล้อทั้ง 4 ล้อ

ค. ก่อนขับรถทางไกล ผู้ขับขี่ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ

ง. การขับรถทางไกลในระยะเกินว่า 150 กม. ควรมีอีกคนคอยเปลี่ยนขับ

จ. งดเว้นการดื่มสุรา หรือของมึนเมาทุกชนิด

ฉ. ถ้ามีฝนตกขณะเดินทาง น้ำโคลนกระเด็นเปื้อนไฟรถ ควรหยุดรถแล้วเช็ดให้สะอาด

ช. ถ้าน้ำในหม้อน้ำหมดระหว่างขับรถ เวลาเติมน้ำในหม้อน้ำควรใช้ความระมัดระวัง อย่าเอาหน้าเข้าใกล้มาก เพราะน้ำจะดันฝาไอน้ำร้อนจะเข้าตาหรือถูกมือ และอย่าเติมน้ำทันทีต้องปล่อยให้เย็นเสียก่อนมิฉะนั้นฝาสูบหรือเสื้อสูบจะแตก

ซ. ควรศึกษาแผนที่ คู่มือการท่องเที่ยว ถามผู้รู้เมื่อเกิดปัญหา

ฌ. ขับรถปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ดังนี้

ความรู้ในการใช้รถหลังจากเกิดอุบัติเหตุ

เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วหากผู้ขับรถมีความรู้เพียงพอที่จะบรรเทาเหตุนั้นไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงได้ ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันได้ ซึ่งอุบัติเหตุที่ควรรู้และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีมีดังต่อไปนี้

* เบรกแตก คือ เมื่อเหยียบเบรกแล้ว คันเหยียบเบรกจมหายไปและรถไม่หยุด ก็อย่าตกใจ แก้ไขได้โดยใช้เกียร์ต่ำในทันที หากจวนตัวมากก็ควรเปลี่ยนจากเกียร์ 4 มาเกียร์ 2 เลย แล้วดึงเบรกมือช่วย พร้อมกับประคองพวงมาลัยรถให้อยู่ในบังคับเพื่อหลบหลีกรถอื่น ๆ ในกรณีคับขันได้

* ยางแตกหรือระเบิด อาการของยางแตกเพราะรั่วโดยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ยางจะค่อย ๆ แบนลง พวงมาลัยรถจะหนักหรือกินไปทางด้านนั้น วิธีแก้ต้องรีบเบารถทันทีโดยเปลี่ยนเกียร์ลงเรื่อย ๆ เพื่อใช้เครื่องชะลอรถให้ช้าลง ในขณะที่รถแล่นด้วยความเร็วสูง "อย่าเหยียบเบรก" จะเหยียบได้ก็ต่อเมื่อรถช้าลงแล้วและแอบเข้าข้างทางเพื่อเปลี่ยนยางต่อไป

ในกรณีที่ยางระเบิดมีเสียงดับและรถมีอาการทรุดฮวบ แฉลบหรือปัดเฉออกนอกแนวทาง ก็อย่าตกใจ ต้องคุมสติให้อยู่ อย่าเหยียบเบรกเพราะรถอาจคว่ำได้ พยายามบังคับพวงมาลัยให้รถอยู่ในเส้นทาง รีบปล่อยคันเร่งพร้อมกับเปลี่ยนใช้เกียร์ต่ำลดลงเรื่อย ๆ เพื่อชะลอให้รถช้าลง จึงค่อยเหยียบเบรกและแอบรถเข้าข้างทางเพื่อเปลี่ยนยางต่อไป

* รถเสีย ให้นำรถจอดแอบเข้าข้างทางและจะต้องเปิดไฟสัญญาณฉุกเฉิน เพื่อเตือนให้รถ

อื่น ๆ เห็น

* เมื่อรถชนกันกลางถนนไม่สามารถแอบเข้าข้างทางได้ ผู้ประสบเหตุหรือประชาชนไม่ควรเข้าไปมุงดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากลางคืนเพราะอาจเกิดอันตรายจากรถที่วิ่งสวนทางมาได้ บางครั้งรถอื่นอาจพุ่งเข้าไปในฝูงชนจะทำให้ตายและบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น และควรรีบแจ้งตำรวจหรือตำรวจจราจรให้เข้ามาดูแลสถานการณ์โดยเร็ว

 

ความรู้สำหรับคนเดินเท้า

1. การเดินถนน

- ถนนที่มีทางเท้าจัดไว้ควรเดินบนทางเท้า อย่าเดินใกล้ทางรถ โดยหันหลังให้รถที่กำลังแล่นมา ก่อนที่จะก้าวลงทางรถต้องมองซ้าย-ขวาก่อนเสมอ

- ถนนที่ไม่มีทางเท้า ควรเดินชิดขอบริมทางขวาของถนน และถ้ามากันเป็นหมู่คณะก็ไม่ควรเดินคู่กัน ควรเดินเรียงเดี่ยว

- เวลาจูงเด็กควรให้เด็กเดินด้านในของถนนและจับมือเด็กไว้ให้มั่นเพื่อป้องกันเด็กวิ่งออกไปในทางรถ

- การเดินถนนในที่มืด ควรสวมเสื้อขาวและถ้าเป็นไปได้ควรพกไฟฉายติดตัวไว้สำหรับส่องทาง

- แถวหรือขบวนทหาร ตำรวจ ลูกเสือ หรือนักเรียนที่เดินกันอย่างเป็นระเบียบจะเดินบนทางรถก็ได้โดยเดินชิดทางรถด้านขวา หรือด้านซ้ายตามความจำเป็น

2. การข้ามถนน

- ควรข้ามถนบนทางม้าลายทุกครั้ง หรือใช้สะพานลอย ซึ่งถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และหากจำเป็นต้องข้ามถนนในเวลากลางคืนก็ควรหาที่ข้ามที่มีแสงสว่าง

- ก่อนข้ามถนนทุกครั้งควรมองซ้าย-ขวา ให้แน่ใจว่าไม่มีรถกำลังแล่นมา จึงจะข้ามได้ และควรเดินอย่างรวดเร็ว อย่าวิ่งข้ามถนน

- อย่าข้ามถนนโดยออกจากที่กำบังตัว เช่น ออกจากซอย รถที่จอดอยู่ เพราะหากรถที่สวนมามองไม่เห็นล่วงหน้าอาจทำให้เกิดอันตรายได้

- การข้ามถนนที่รถเดินทางเดียว ต้องแน่ใจเสียก่อนว่ารถแล่นมาทางไหนและมีความปลอดภัยพอจึงจะข้ามได้

- ถนนที่มีเกาะกลางถนนต้องข้ามทีละครึ่งถนน โดยข้ามครั้งแรกแล้วพักที่เกาะกลาง จากนั้นจึงข้างครึ่งหลังต่อไป

- การข้ามถนนในช่องทางข้ามที่บริเวณทางแยกควรระวังรถที่จะเลี้ยวเข้ามาหาตัวท่านด้วย

- อย่าข้ามถนนเมื่อตำรวจกำลังปล่อยรถเดินอยู่ หรือเมื่อตำรวจให้สัญญาณห้ามคนเดินเท้าอยู่ และถ้าไม่มีตำรวจแต่มีสัญญาณไฟคอยบอก ถ้าเห็นรูปคนสีเขียวกะพริบขึ้นที่สัญญาณไฟก็ให้รีบข้ามถนนโดยเร็ว

 

3. การขึ้นลงรถประจำทาง

- อย่าขึ้นหรือลงรถประจำทางจนกว่ารถจะหยุดสนิทที่ป้ายหยุดรถ และถ้าจะข้ามถนนต้องรอให้รถประจำทางออกไปให้พ้นเสียก่อน จะได้มองเห็นรถคันอื่นที่แล่นมาได้ชัดเจน

การสวมหมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อค

เป็นกฎบังคับอย่างเคร่งครัดที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และคนโดยสารจะต้องสวมหมวกนิรภัยไม่ว่าในกรณีใดก็ตามเพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ซึ่งหากมีการละเมิดฝ่าฝืนไม่ทำตาม ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารจะมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท เตือนตัวเองไว้เสมอว่า "ลืมหมวก เจอหมู่ !"