ความรู้เกี่ยวกับยาเสพย์ติดและการป้องกัน

ลักษณะที่สังเกตได้ของผู้ติดยา

ลักษณะการติดยาเสพติด

สาเหตุของการติดยาเสพย์ติด

รู้จักยาบ้า ยาอี ยาเลิฟ

รู้จัก “สารระเหย”

พิษภัยของสารระเหย

บทลงโทษเกี่ยวกับยาเสพย์ติดให้โทษ

การป้องกันการติดยาเสพย์ติด

การปฐมพยาบาลผู้ติดยาเสพย์ติด

สถานที่ให้คำปรึกษาด้านการป้องกัน และแนะนำการบำบัดรักษาชั้นต้น

 

“ยาเสพย์ติด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม”

คำกล่าวนี้ยังคงใช้ได้ดีในทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากทุกคนต่างทราบถึงพิษร้ายของยาเสพย์ติดกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อันเนื่องมาแต่สาเหตุนี้ นับเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศใด ดังนั้นจงช่วยกันสอดส่องดูแลบุคคลในครอบครัว อย่าให้เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติดไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม

“ยาเสพย์ติด” หมายถึง สารเคมีหรือสารใดก็ตามที่เมื่อบุคคลเสพหรือรับเข้าทางร่างกายไม่ว่าจะโดยการฉีด สูบ กิน ดื่ม หรือวิธีอื่น ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เมื่อเสพไปได้สักระยะหนึ่งจะทำให้ผู้เสพแสดงออกมาตามลักษณะเหล่านี้

- ผู้เสพมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเสพยาชนิดนั้นต่อเนื่องไป และต้องแสวงหามาเสพให้ได้ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม

- ผู้เสพจะเพิ่มปริมาณของยาที่เคยใช้มากขึ้นทุกระยะ

- ผู้เสพจะมีความปรารถนาอยากเสพยาชนิดนั้นอย่างรุนแรงจนระงับไม่ได้ คือ ติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ


ลักษณะการติดยาเสพติด

าเสพติดบางชนิดก่อให้เกิดการติดได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ยาเสพติดบางชนิด ก็ก่อให้เกิดการติดทางด้านจิตใจ เพียงอย่างเดียว

การติดยาทางกาย

เป็นการติดยาเสพติดที่ผู้เสพมีความต้องการเสพอย่างรุนแรง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อถึงเวลาอยากเสพแล้วไม่ได้เสพ จะเกิดอาการผิดปกติอย่างมาก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเรียกว่า "อาการขาดยา" เช่น การติดฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เมื่อขาดยาจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หาว น้ำมูกน้ำตาไหล นอนไม่หลับ เจ็บปวดทั่วร่างกาย เป็นต้น

การติดยาทางใจ

เป็นการติดยาเสพติดเพราะจิตใจเกิดความต้องการ หรือ เกิดการติดเป็นนิสัย หากไม่ได้เสพร่างกายก็จะไม่เกิดอาการผิดปกติ หรือทุรนทุรายแต่อย่างใด จะมีบ้างก็เพียงเกิดอาการหงุดหงิดหรือกระวนกระวายใจเท่านั้น

การติดยาทางกาย
การติดยาทางใจ
  1. ต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับให้ต้องเสพ จะหยุดเสพไม่ได้
  1. ไม่ถึงกับตกอยู่ภายใต้การบังคับให้ต้องเสพ แต่มีความต้องการที่จะเสพต่อไป
  1. ต้องเพิ่มปริมาณในการเสพยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
  1. ไม่มีแนวโน้มที่จะต้องเพิ่มปริมาณการเสพมากนัก
  1. ตกเป็นทาสทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากไม่เสพจะเกิดอาการขาดยา ต้องทุรุนทุราย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  1. ไม่มีอาการขาดยา



 

ลักษณะที่สังเกตได้ของผู้ติดยา

    1. ตาโรย ขาดความกระปรี้กระเปร่า น้ำมูกน้ำตาไหล ริมฝีปากเขียวคล้ำแห้งและแตก (เสพโดยการสูบ)
    2. เหงื่อออกมาก กลิ่นตัวแรง พูดจาไม่สัมพันธ์กับความจริง
    3. มีร่องรอยการเสพยาโดยการฉีดที่บริเวณแขนตามแนวเส้นโลหิต
    4. ท้องแขนมีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการกรีดด้วยของมีคมตามขวาง (ติดเหล้าแห้ง ยากล่อมประสาท ยาระงับประสาท)
    5. ใส่แว่นตากรองแสงเข้มเป็นประจำเพราะม่านตาขยายและเพื่อปกปิดนัยน์ตาสีแดงก่ำ
    6. มักสวมเสื้อแขนยาวปิดรอยฉีดยา

พบเห็นบุคคลที่มีลักษณะเข้าข่าย 6 ประการ ข้างต้น ก็ไม่ควรปล่อยให้บุตรหลานของท่านร่วมเสวนาด้วย เพราะคนเหล่านี้อาจเป็นพาหนะนำยาเสพย์ติดเข้ามาสู่ครอบครัวท่านก็เป็นได้

สาเหตุของการติดยาเสพย์ติด

    1. ความอยากรู้อยากลองด้วยความคึกคะนอง
    2. เพื่อนชวน หรือต้องการให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
    3. มีความเชื่อในทางที่ผิด เช่น เชื่อว่ายาเสพย์ติดบางชนิดอาจช่วยให้สบายใจลืมความทุกข์ หรือช่วยให้ทำงานได้มาก
    4. ขาดความระมัดระวังในการใช้ยา เพราะคุณสมบัติของยาบางชนิดอาจทำให้ผู้ใช้ยาเกิดการเสพย์ติดได้โดยไม่รู้ตัว หากใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยขาดการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
    5. สภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่อาศัยมีการค้ายาเสพย์ติด หรือมีผู้ติดยาเสพย์ติด
    6. ถูกหลอกให้ใช้ยาเสพย์ติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
    7. เพื่อหนีปัญหา เมื่อมีปัญหาและไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับตัวเองได้

รู้จักยาบ้า ยาอี ยาเลิฟ

“ทลายแหล่งยาบ้า”….”บุกจับปาร์ตี้ยาอี” จนมาถึงคำว่า “ยาเลิฟ” ปรากฏทางสื่อมวลชนแทบทุกวัน คงสร้างความสงสัยให้ผู้อ่านมากทีเดียวว่าแท้ที่จริงแล้ว ยาบ้า ยาอี ยาเลิฟ คือยาอะไรกันแน่

ยาบ้า เดิมผู้เสพเรียกว่า “ยาม้า” แต่ด้วยฤทธิ์ของยาที่ทำให้ผู้เสพคลุ้มคลั่งคล้ายคนบ้าน จึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “ยาบ้า” ในยาบ้าจะมีส่วนผสมของสารเคมีที่สำคัญ คือ เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาททำให้ผู้เสพประสาทตึงเครียด ตกใจง่าย หงุดหงิด สับสน กระวนกระวายใจ นอนไม่หลับ แต่เมื่อยาหมดฤทธิ์ผู้เสพจะรู้สึกอ่อนเพลียมาก เพราะสมองและร่างกายขาดการพักผ่อน ประสาทจะล้า ทำให้การตัดสินใจช้าและผิดพลาด จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ การเสพยาบ้าเป็นระยะเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม มีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ ดังที่เป็นข่าวอยู่เสมอ ๆ

ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพย์ติดกลุ่มเดียวกัน จะแตกต่างกันบ้างในด้านโครงสร้างทางเคมี นอกจากชื่อยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซีแล้ว ยังมีชื่อเรียกในกลุ่มผู้เสพอีกหลายชื่อ เช่น Adam Batman Enjoy Essence ฯลฯ ส่วน ยาเลิฟ เป็นชื่อเรียกตามลักษณะอาการของผู้เสพ เพราะเมื่อเสพยาชนิดนี้แล้วจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ทำให้เกิดการมั่วเพศ

ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี เริ่มแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยโดยชาวต่างชาติและชาวไทยที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศนำเข้ามาเพื่อใช้เสพในกลุ่มของตน จากนั้นจึงเริ่มกระจายไปสู่กลุ่มวัยรุ่นนักเที่ยวที่ชอบการเต้นรำ จนเกิดปาร์ตี้ยาอีตามข่าว

ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะสั้น ๆ หลังจากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ฤทธิ์ของยาจะทำให้ผู้เสพรู้สึกร้อนเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว การมองเห็นภาพและการรับฟังเสียงต่าง ๆ ผิดไปจากความเป็นจริง ผู้เสพจะรู้สึกคล้อยตามไปกับเสียงเพลง โดยเฉพาะเพลงที่คนทั่วไปฟังแล้วรู้สึกแสบแก้วหูและรำคาญ แต่ผู้เสพยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี จะถูกกระตุ้นด้วยฤทธิ์ยาให้เต้นรำไปตามจังหวะเพลงอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ซึ่งการเต้นรำอย่างหักโหมนี้เองที่ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อมากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้ช็อคและเสียชีวิตได้

รู้จัก “สารระเหย”

ปัจจุบันผู้ติดยาเสพย์ติดได้หันไปเสพยาตัวอื่นที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายกว่าผลขาว ซึ่งก็คือ สารระเหยชนิดต่าง ๆ เช่น ทินเนอร์ผสมสี น้ำมันเบนซิน น้ำมันไฟแช็ก น้ำมันก๊าด น้ำมันแลคเกอร์ กาวชนิดต่าง ๆ น้ำมันชักเงา ยาทาเล็บ ตลอดจนสเปรย์ชนิดต่าง ๆ โดยหารู้ไม่ว่าสารเสพย์ติดประเภทนี้มีฤทธิ์ร้ายแรงกว่าเฮโรอีนหลายเท่านักเพราะเฮโรอีน ทำให้สุขภาพทั่วไปทรุดโทรมก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความพิการถาวรให้แก่อวัยวะใด ๆ ในร่างกาย ซึ่งเมื่อเลิกเสพ เพียงพักฟื้นไม่นานสุขภาพก็จะแข็งแรงกลับสู่สภาพปรกติได้ แต่สารระเหยเหล่านี้ เมื่อเสพจนติดเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายเป็นโรคหรือมีความพิการถาวรและไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น เป็นมะเร็งในเม็ดเลือด สมองพิการ ตับพิการ พิการทางพันธุกรรม

พิษภัยของสารระเหย

พิษของสารระเหยต่อร่างกาย หากเสพไปนาน ๆ จะเกิดอาการได้ 2 แบบ คือ

- พิษระยะเฉียบพลัน

- พิษระยะเรื้อรัง

เมื่อสูดดมสารระเหยเข้าไปในกระเพาะอาหารก็จะดูดซึมเข้าไปในหลอดเลือดไหลเวียนไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายโดยจะไปออกฤทธิ์โดยตรงด้วยการไปกดสมองส่วนกลาง ดังนั้นพอสูดดมไปไม่กี่นาทีจะเกิดอาการเมาที่คล้ายคนเมาเหล้า คือ เวียนหัว ตาพร่า เวลาดูอะไรจะเพ่งจะจ้องเหมือนตาขวาง ลิ้นไก่สั้น เดินโซเซ ง่วงซึม จิตใจครึกครื้น เห่อเหิม คึกคะนอง ซึ่งอาจทำให้ก่ออาชญากรรมได้ สติปัญญาทึบ มีหูแว่ว เกิดประสาทหลอน เกิดความคิดแบบหลงผิด หากสูดดมต่อไปนาน ๆ จะทำให้อาการโคม่าถึงตายได้ซึ่งมักจะมีสาเหตุจากการสูดยาเกินขนาด ทำให้ยาไปกดที่ศูนย์ควบคุมการหายใจและหยุดหายใจในที่สุด นอกจากนี้ยายังไปออกฤทธิ์ต่อหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วและไม่เป็นจังหวะ

สำหรับกลุ่มคนต่าง ๆ ที่มักจะเสพสาระเหยเหล่านี้ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เยาวชนของชาติ ซึ่งกำลังศึกษาในระดับมัธยมต้นและปลาย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และในจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มว่ามีการเสพย์ติดจาชนิดนี้อย่างแพร่หลาย และเด็กเหล่านี้จะมีอายุระหว่าง 8-10 ปี โดยเสพกันเป็นกลุ่ม ในวัด ในห้องที่ลับตาคน โดยใช้สำลี ผ้าเช็ดหน้าหรือเสื้อยืดชุบทินเนอร์จนชุ่มแล้วสูดดมเข้าปอดหมุนเวียนส่งต่อไปจนเมามาย บางคนอาจฉีดสเปรย์เข้าตู้เสื้อผ้าและตู้ลับ แล้วยื่นหน้าเข้าสูดดม

จะเห็นได้ว่ายาเสพย์ติดพวกสารระเหยนี้มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ของใช้แทบทุกครัวเรือน หรือหาซื้อ ได้ทุกแห่ง มีราคาถูก และทุกชนิดมีกลิ่นหอม และทุกชนิดมีกลิ่นหอมที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยชอบกลิ่น จึงทำให้เสพย์ติดได้ง่ายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนทั้งชายและหญิง

ตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 ได้กำหนดมาตรการควบคุมไม่ให้นำสารระเหยมาใช้ในทางที่ผิดไว้หลายประการ และกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องโทษ ดังนี้

1. กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายสารระเหย ต้องจัดให้มีภาพหรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสารระเหย เพื่อเป็นการเตือนให้ระวังการใช้สารดังกล่าว ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ห้ามไม่ให้ผู้ใดขายสารระเหยแก่ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 17 ปี เว้นแต่เป็นการขายโดยสถานศึกษาเพื่อใช้ในการเรียนการสอน ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

3. ห้ามไม่ให้ผู้ใดขาย จัดหา หรือให้สารระเหยแก่ผู้อื่นซึ่งตนรู้หรือควรรู้ว่าเป็นผู้ติดสารระเหย ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. ห้ามไม่ให้ผู้ใดจูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม หรือใช้อุบายหลอกลวงให้บุคคลอื่นใช้สารระเหย บำบัดความต้องการของร่างกายหรือจิตใจ ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. ห้ามไม่ให้ผู้ใดใช้สารระเหยบำบัดความต้องการของร่างกายหรือจิตใจ ไม่ว่าด้วยวิธีสูดดมหรือวิธีอื่นใด ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พึงระลึกไว้เสมอว่าการเสพสารระเหยนอกจากจะเป็นโทษต่อร่างกายแล้วยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

บทลงโทษเกี่ยวกับยาเสพย์ติดให้โทษชนิดอื่น

เฮโรอีน

- ผู้จำหน่ายหรือมีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง น้ำหนักไม่เกิน 100 กรัม จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง

ตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 50,000-500,000 บาท

- เกิน 100 กรัม ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

- มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท

- ผู้เสพเฮโรอีนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท

กัญชา

- มีกัญชาไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายหรือผลิต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้ง

แต่ 20,000-150,000 บาท

- ผู้ใดเสพกัญชา จำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

- มีกัญชาไว้ในครอบครอง โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ยาบ้า

- ผู้ผลิต นำเข้าหรือส่งออกยาบ้าเพื่อจำหน่าย มีโทษประหารชีวิต

- มียาบ้าตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป (สารบริสุทธิ์) ถือเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายมีโทษ

ประหารชีวิต

- จำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่เกิน 100 กรัม (สารบริสุทธิ์) โทษจำคุก 5 ปี ถึง

ตลอดชีวิต และปรับ 50,000-500,000 บาท

- เกิน 100 กรัม โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

- ครอบครองไม่เกิน 20 กรัม โทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 10,000-100,000 บาท

- ผู้เสพโทษจำคุก 6 เดือน - 10 ปี ปรับ 5,000-100,000 บาท

การป้องกันการติดยาเสพย์ติด

1. ป้องกันตนเอง ไม่ใช้ยาโดยไม่รับคำแนะนำจากแพทย์และอย่าทดลองเสพยาทุกชนิดโดยเด็ดขาด

2. ป้องกันครอบครัว ควรสอดส่องดูแลเด็กและบุคคลในครอบครัว อย่าให้เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด ต้องคอยอบรมสั่งสอนให้รู้ถึงโทษและภัยของยาเสพย์ติดที่สำคัญ ควรให้ความรักความอบอุ่นกับลูกหลาน เพราะความรักของครอบครัวจะเป็นปราการสำคัญต้านภัยยาเสพย์ติดได้ หากมีผู้เสพยาในครอบครัวควรจัดการให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลให้หายเด็ดขาดอย่าแสดงความรังเกียจหรือดูหมิ่นควรให้กำลังใจให้ความรักต่อเขา และการรักษาแต่เริ่มแรกที่ติดยามีโอกาสหายได้เร็วกว่าปล่อยไว้นาน ๆ

3. ป้องกันเพื่อนบ้าน ช่วยชี้แจงเพื่อนบ้านให้เข้าใจถึงโทษและภัยของยาเสพย์ติด หากพบว่าเพื่อนบ้านติดยาเสพย์ติด อย่าแสดงความรังเกียจ ควรช่วยแนะนำให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล

4. ป้องกันโดยให้ความร่วมมือกับทางราชการ เมื่อทราบว่าสถานที่แห่งใด มียาเสพย์ติดแพร่ระบาด ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกแห่งทุกท้องที่ทราบ หรือที่ศูนย์ปราบปรามยาเสพย์ติดให้โทษ กรมตำรวจ โทร. 252-7962 , 252-5932 หรือ “1688” และที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด (ป.ป.ส.) สำนักนายกรัฐมนตรี โทร. 245-9350-9

การปฐมพยาบาลผู้ติดยาเสพย์ติด

หากพบเห็นบุคคลใดมีอาการลงแดงอันเนื่องจากการติดยาเสพย์ติด ขอให้ปฏิบัติตามดังต่อไปนี้

1. อย่าตื่นตระหนก พยายามสงบสติอารมณ์ตนเอง

2. พยายามให้ผู้ติดยาอยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์อย่างเพียงพอ

3. ให้ผู้ติดยานอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่งเพื่อไม่ให้อาเจียนปิดกั้นทางเดินหายใจพร้อมทั้ง

  1. ปลดเสื้อผ้าออกให้สบายที่สุด

    4. อย่าปล่อยให้ผู้ติดยาอยู่เพียงลำพัง

    5. เรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด

    6. เก็บตัวอย่างยาเสพย์ติดไว้ให้แพทย์วินิจฉัย

    สถานที่ให้คำปรึกษาด้านการป้องกัน และแนะนำการบำบัดรักษาชั้นต้น

    1. สำนักงานศึกษาป้องกันการติดยา (กระทรวงสาธารณสุข) โทร. 282-4180-5

    2. สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ศูนย์อาสาสมัครยาเสพย์ติดตึกมหิดล โทร.245-5522

    3. ศูนย์สุขวิทยาจิต โทร. 281-5241

    4. สมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย โทร. 245-2733

    5. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด(ป.ป.ส.) โทร.245-9340-9